รายงานของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) คาดการณ์ถึงผลกระทบและความเสียหายจากสภาวะโลกร้อนที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งจะก่อให้สัตว์บางชนิดเกิดการสูญพันธุ์ รวมทั้งเกิดความแห้งแล้งและภาวะน้ำท่วมในอนาคต โดยดินแดนที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักเป็นแหล่งที่อยู่ประชากรโลกที่ยากจน เช่น เขตอาร์กติก (Artic) กลุ่มประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ (sub-Saharan Africa) กลุ่มหมู่เกาะเล็กๆ และดินแดนลุ่มแม่น้ำในทวีปเอเชีย (deltas of Asia)
ตัวแทนกลุ่มศึกษาการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลก (IPCC working groups) คาดการณ์ผลกระทบในภาพรวม โดยได้ศึกษารวบรวมแหล่งข้อมูล 29,000 ชุดจากทั่วโลก จึงทำให้สามารถทำนายผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่บนโลก ตัวอย่างเช่น การที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น จะทำให้ทรัพยากรน้ำในเขตชุ่มชื้นมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่กลับทำให้เกิดความแห้งแล้งแพร่กระจายในดินแดนที่อยู่ในช่วงละติจูดต่ำ (low-latitude) และในพื้นที่กึ่งแห้งแล้ง (semiarid regions) ซึ่งได้แก่ กลุ่มประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ พื้นที่เขตตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอเมริกา (American Southwest) และประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง (Middle East) นอกจากนั้นยังคาดว่าอัตราการผลิตอาหาร (food production) ในพื้นที่ในช่วงละติจูดต่ำจะลดลงเช่นกัน
อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นเพียง 3 องศาเซลเซียสจากค่าเฉลี่ยระหว่างปี พ.ศ. 2523 – 2542 ก็จะส่งผลกระทบเสียหายต่อผลิตผลทางการเกษตร ตลอดจนทำให้สัตว์บางชนิดมีโอกาสสูญพันธุ์เพิ่มขึ้น และถึงแม้อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียส ก็จะทำให้ประชากรโลกหลายล้านคนประสบปัญหาน้ำท่วม
ในปัจจุบันอุณหภูมิโลกมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.77 องศาเซลเซียสเมื่อนับจากปี พ.ศ. 2393 และมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.27 องศาเซลเซียสเมื่อนับจากช่วงปี พ.ศ. 2523 – 2542 อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีการลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับจากในตอนนี้เป็นต้นไป จะทำให้อุณหภูมิโลกมีค่าเพิ่มสูงขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียสภายหลังจากปี พ.ศ. 2593 และจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีก 3 องศาเซลเซียสภายหลังปี พ.ศ. 2613
รายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของ IPCC จำนวน 1,572 หน้านี้จัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 200 คน และได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบใน 120 ประเทศ กำลังอยู่ในช่วงเตรียมการเพื่อนำเข้าที่ประชุมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมทั้ง 8 (the Group of Eight industrial nations) ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งคาดว่าในระหว่างการประชุม กลุ่มสหภาพยุโรปจะโน้มน้าวให้สหรัฐฯเพิ่มความพยายาม เพื่อลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ตามในการเผยแพร่ข้อมูลของรายงานจาก IPCC เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2550 นี้ นาย James L. Connaughton ประธานที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐฯด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็ได้ยืนยันว่า สหรัฐฯกำลังดำเนินการเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆถึงแม้ว่าสหรัฐฯจะไม่ได้ลงสัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เหมือนประเทศอื่นๆก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น