ดินแยก (Earth crack) เป็นปรากฏการณ์ที่พื้นดินเกิดการเคลื่อนตัวหรือแยกตัวออกจากกันในแนวดิ่งหรือแนวราบ หรือทั้งแนวดิ่งและแนวราบ จากข้อมูลการรับแจ้งจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาในกรมทรัพยากรธรณีให้เข้าทำการตรวจสอบ ทำให้สามารถแบ่งดินแยกออกเป็นสองชนิดด้วยกัน ตามลักษณะพื้นที่ที่เกิด คือ ดินแยกที่เกิดขึ้นบนภูเขาที่มีความลาดชัน และดินแยกที่เกิดขึ้นบนพื้นราบ
1.ดินแยกบนภูเขาที่มีความลาดชัน ดินแยกบนภูเขาที่มีความลาดชัน เป็นดินแยกที่กรมทรัพยากรธรณีได้รับแจ้งให้เข้าทำการตรวจสอบมากที่สุด เป็นลักษณะการเคลื่อนที่ลงมาตามแนวลาดเอียง เนื่องมาจากการสูญเสียเสถียรภาพของลาดดิน ที่มีรูปแบบการเคลื่อนที่แบบ Slide แต่ยังไม่ได้ถล่มลงมายังพื้นล่าง ซึ่งโดยพฤติกรรมธรรมชาติก่อนที่ดินจะมีการเคลื่อนที่ลงมาตามลาดเอียง จะเกิดดินแยกขึ้นบริเวณด้านบนของตัวมวลดินและทรุดตัวลงมา
2. ดินแยกที่เกิดขึ้นบนพื้นราบ ดินแยกที่เกิดบนพื้นราบมีสาเหตุมาจากหลายประการด้วยกันดังนี้
2.1 ดินแยกแบบระแหงโคลน (mud crack) เกิดขึ้นจากการบวม และหดตัว ของตะกอนดินขนาดละเอียด ซึ่งเมื่อน้ำเข้าไปในเนื้อดิน เนื้อดินจะมีคุณสมบัติในการพองตัวหรือบวม ทำให้มีปริมาตรเพิ่มขึ้นมาก ในทางกลับกันถ้าหากดินดังกล่าวมีการสูญเสียน้ำออกไปจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ปริมาตรของมวลดินจะมีการลดลงอย่างมากเช่นกัน และจะทำให้เกิดแรงดึงด้านข้าง เกิดเป็นลักษณะที่เรียกว่าระแหงโคลนตัวอย่างได้แก่รอยระแหงโคลนที่เกิดขึ้นตามท้องนา หรือหนองน้ำที่แห้งผาก ในฤดูแล้ง โดยทั่วไปจะมีขนาด ความกว้างตั้งแต่ขนาดไม่กี่เซนติเมตรจนถึง 1 เมตร ความลึกประมาณ 3เมตร และยาวประมาณ 300 เมตร ( Raymond C.Harris,2004 )โดยทั่วไปลักษณะการเกิดของระแหงโคลนยักษ์จะมีการพัฒนาของรอยแตกจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน โดยเมื่อมีน้ำไหลผ่านเข้าไปในรอยแยกจะเป็นตัวไปเร่งให้รอยแยกมีการขยายใหญ่ขึ้นเกิดเป็นโพรงขนาดเล็ก และเมื่อกำลังรับแรงดินไม่สามารถรับแรงกดทับของดินที่ปิดอยู่ด้านบนได้พนังของรอยแยกจะเกิดการพังทลายลงมาเป็นรอยแยกที่ปรากฏขึ้นบนผิวดิน
2.2 ดินแยกแผ่นดินที่เกิดขึ้นจากผลของการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากเกินพอดี รอยดินแยกลักษณะนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เกินปกติ ทำให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงมาก มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นชั้นตะกอนที่ยังจับตัวกันไม่แน่น ปกติในชั้นน้ำใต้ดินจะประกอบไปด้วยเม็ดตะกอนดิน และกรวดซึ่งมีช่องว่างระหว่างเม็ดดินและน้ำจะเข้าไปแทรกอยู่ในช่องว่างดังกล่าว เพราะฉะนั้นแรงรวมในการรับน้ำหนักชั้นดินที่ปิดทับอยู่ด้านบนจะประกอบไปด้วยมวลของเม็ดดินบวกกับมวลของน้ำ แต่ถ้าหากมีการสูบน้ำออกไป มวลของน้ำที่มีอยู่จะหายไป ส่งผลให้ปริมาตรลดลงเกิดการทรุดตัวของพื้นดิน
2.3 ดินแยกที่เกิดขึ้นก่อนการเกิดหลุมยุบ เป็นรอยดินแยกที่เกิดขึ้นบริเวณชั้นดิน ซึ่งปิดทับอยู่บนโพรงใต้ดิน เมื่อโพรงใต้ดินขยายตัว เพดานโพรงไม่สามารถรับน้ำหนักของชั้นดินที่ปิดทับอยู่ได้ จึงเริ่มมีการพังทลาย ทำให้เกิดเป็นรอยดินแยกหรือถ้าพังทลายลงก็เป็นหลุมยุบ เป็นที่น่าสังเกตว่ารอยดินแยกที่เกิดในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นรูปวงกลม หรือวงรี ตามรูปทรงของโพรงที่อยู่ด้านล่าง
2.4 ดินแยกที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ รอยแยกแบบนี้อาจมีความยาวหลายร้อยเมตรจนถึงเป็นกิโลเมตร ลักษณะดินแยกโดยส่วนมากจะเป็นแนวเส้นตรง หรือแนวขนานไปกับระนาบแนวรอยเลื่อนที่เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยปกติพบว่าแผ่นดินไหวที่มีขนาด 5 ริกเตอร์ จะมีโอกาสก่อให้เกิดรอยดินแยกปรากฏขึ้นบนพื้นดินประมาณร้อยละ 10 และหากมีขนาด 6.2 ริกเตอร์ จะมีโอกาสก่อให้เกิดดินแยกปรากฏขึ้นบนพื้นดินประมาณร้อยละ 50 และแผ่นดินไหวที่มีขนาดตั้งแต่ 7.6 ริกเตอร์ ขึ้นไปจะก่อให้เกิดดินแยกปรากฏขึ้นบนพื้นดินทุกครั้ง ( Kathy haller,2007 )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น